วันอาทิตย์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

เนื้อหาคลิปวิดิโอ

คลิปวิดิโอ เรื่อ รสวรรณคดี
"รส" ในวรรณคดีนั้นเกิดจากความงามในการสรรคำ น้ำเสียง ลีลาในการประพันธ์ ภาพพจน์ ตลอดจนความงามในเนื้อหา. ตำราไทยแบ่งรสแห่งวรรรคดีเป็นสี่รส กล่าวคือ:

1) เสาวรจนี (เสาว ว. ดี, งาม. + รจนี ก. ตกแต่ง, ประพันธ์; ว. งาม) หรือจำง่าย ๆ ว่า "คำหยาด." รสนี้เป็นการชมความงาม ชมโฉม พร่ำพรรณาแลบรรยายถึงความงามแห่งนาง ทั้งตามขนบกวีเก่าก่อนแลในแบบฉบับส่วนตัว.

2) นารีปราโมทย์ (นารี น. หญิง + ปราโมทย์ น. ความบันเทิงใจ, ความปลื้มใจ, ปราโมช ก็ว่า) คือ การทำให้ "นารี" นั้น ปลื้ม "ปราโมทย์" ซึ่งรูปแบบหนี่งก็คือ การแสดงความรักผ่านการเกี้ยวแลโอ้โลมปฏิโลม. อันคำว่า "โอ้โลมปฏิโลม" นี้ ความหมายอันแท้จริงของคำก็คือ การใช้มือลูบไปตาม (โอ้) แนวขน (โลมา) และย้อน (ปฏิ) ขนขึ้นมา ซึ่งแสนจะ oh-so romantic ตามมุมมองส่วนตัวของกระผม:-) เมื่อโอ้โลมไปมา ในเบื้องปลาย นารี (ขอรับประกันว่า รวมถึงบุรุษอกสามศอกก็ด้วย แต่ขนบวรรณคดีคงส่ายพักตร์ขยักเขยียด) ก็จักปรีดาปราโมทย์.

3) พิโรธวาทัง (พิโรธ ก. โกรธเกรี้ยว ไม่สบอารามณ์ + วาทัง น. วาทะ คำพูด) คือ พิโรธวาทัง การแสดงความโกธรแค้นผ่านการใช้คำตัดพ้อต่อว่าให้สาใจ ทั้งยังสำแดงความน้อยเนื้อต่ำใจ, ความผิดหวัง, ความแค้นคับอับจิต แลความโกรธกริ้ว ตามออกมาด้วย เหมือนกล้วยกับเปลือก. กวีมักตัดพ้อและประชดประเทียดเสียดแลสี เจ็บดังฝีกลางกระดองใจ อ่านสนุกนิ์ดีไซร้แฮ!

4) สัลลาปังคพิไสย (สัลล น. ความโศกโศกาเศร้าร่ำน้ำตานอง, ความเจ็บปวดแปลบ ๆ แลบแล่นในเนื้อใจ, การครวญคร่ำรำพันรำพึง / สัลลาป น. การพูดจากัน + องค์ น. บท, ชิ้น อัน, ตัว + พิไสย น. ความสามารถ ฤาจะแผลงมาจาก วิสัย ซึ่งแปลว่า ธรรมชาติของสิ่งนั้น ๆ ฤาสันดาน ก็อาจเป็นได้) คือ การโอดคร่ำครวญ หรือบทโศกอันว่าด้วยการจากพรากสิ่งอันเป็นที่รัก. มีใช้ให้เกลื่อนกร่นไปในบรรดานิราศ (ก. ไปจาก, ระเหระหน, ปราศจาก, ปราศจากความหวัง, ไม่มีความต้องการ, หมดอยาก, เฉยอยู่) เนื่องเพราะกวี อันมีท่านสุนทรภู่นำเริ่ดบรรเจิดรัศมีอยู่ที่หน้าขบวน จำต้องจรจากนางอันเป็นที่รัก. อกจึงหนักแลครวญคร่ำจำนรรจ์ ประหนึ่งหายห่างกันไปครึ่งชีวิต.


นี้เป็นเนื้อหาที่จะต้องนำเสนอ รูปแบบการนำเสนอเป็นการนำเสนอแบบสารคดีสั้นมีผู้บรรยายและการแสดงบทบาทสมมติในกาพย์กลอน

วันเสาร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ชีวิตในรั้วมหาลัย(Part 1)

เก่งด้วย เท่ด้วย แนวด้วย ต้องเด็กสถาปัตย์ !


รุ่นพี่ คนที่ 1 นิติพันธุ์ แก้วสุวรรณ์ (นิก)
นิสิตชั้นปีที่2 ภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พี่เป้ : แนะนำตัวหน่อยสิคะ?
พี่นิก : สวัสดีครับ นิติพันธุ์ แก้วสุวรรณ์ (นิก) นิสิตชั้นปีที่2 ภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยครับ
พี่เป้ : ทำไมถึงสนใจเรียนภูมิสถาปัตยกรรมล่ะคะ?
พี่นิก : เพราะได้อยู่กับธรรมชาติ ได้ออกแบบธรรมชาติให้กลมกลืนและสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้น ออกแบบให้ธรรมชาติเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งกับชีวิต และได้ช่วยลดภาวะโลกร้อนด้วยนะครับ และยิ่งไปกว่านั้น ตอนนี้ภูมิสถาปนิกก็เป็นที่ต้องการมากในต่างประเทศ ถือว่าเป็นภาควิชาที่กำลังรุ่งเลยครับ
พี่เป้ : แล้วตอนแอดมิชชั่นมีวิธีเตรียมตัวยังไงบ้างคะ?
พี่นิก : ก็ตั้งใจเรียนในห้องครับ เพราะสอบแค่ O-NET แล้วก็ A-NET เฉพาะวิชาความถนัดทางสถาปัตยกรรมศาสตร์ที่ต้องฝึกวาดรูปกันนิดหน่อย แต่ส่วนใหญ่ก็ต้องเปิดหูเปิดตาให้มากๆ แหละครับ ดูงานออกแบบใหม่ๆ แล้วก็ที่สำคัญ ก็เรียนรู้การเรียนของพี่ๆ ในคณะว่าต้องเตรียมพร้อมยังไง แต่ปกติที่คณะก็จะมีการเปิดติวความถนัดทางสถาปัตยกรรมให้น้องๆ มัธยม ซึ่งก็จะมีอีกรอบตอนประมาณเดือนมีนาคมครับ น้องๆมัธยมที่สนใจก็ติดตามข่าวกันนะครับ ส่วนเรื่องคะแนนก็ประมาณเจ็ดพันนิดๆ ครับ ได้คะแนน O-NETช่วยไว้
พี่เป้ : ตอนนั้นได้เตรียมพอร์ทฟอลิโอไว้มั้ยคะ?
พี่นิก : ก็มีพอสมควรครับ เพราะเป็นคนชอบทำกิจกรรม แต่ว่าตอนนั้นก็ไม่ได้ใช้ครับ เพราะตอนปีนั้นคณะยังไม่มีสอบตรง แต่ก็สำหรับน้องๆ มัธยมตอนนี้ก็ควรจะต้องเตรียมไว้กันบ้างนะครับ เพราะอนาคตไม่แน่นอน เดี๋ยวระบบการศึกษาจะเปลี่ยนกันอีก เตรียมพร้อมไว้ดีกว่า
พี่เป้ : พอเข้ามาเรียนจริงๆ ต่างกับที่คิดไว้ตอนแรกมั้ยคะ?
พี่นิก : ต่างมากเลยครับ เพราะเราไม่ได้เรียนแค่การออกแบบอย่างเดียว ยังต้องเรียนโครงสร้างของอาคารรวมทั้งระบบงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องด้วยครับ ต้องมีการเขียนแบบที่ต้องใช้ความละเอียดมากๆ เลยครับ ได้เรียนรู้การออกแบบที่มีหลักการมากขึ้น ไม่ใช่ใช้ความรู้สึกอย่างเดียว เรียนวาดรูปแบบจริงจัง ไม่ใช่วาดการ์ตูนเหมือนตอนมัธยม และอีกหลายๆ อย่างที่ต้องปรับตัวกันแทบทั้งหมดเลยครับ แต่พอได้เรียนแล้วก็เหมือนว่าเราได้เปลี่ยนมุมมองใหม่ ที่เขาไม่เคยได้รู้มาก่อนเลยครับ
พี่เป้ : สังคมคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ที่จุฬาฯ เป็นยังไงบ้าง?
พี่นิก : สังคมก็ดีมากเลยครับ ทุกคนช่วยเหลือกันมากๆ ไม่ว่าจะเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องหรือเพื่อนๆ มีกิจกรรมให้ได้รู้จักและสนิทกัน เวลาทำงานก็จะมีพี่ๆ คอยมาช่วยสอน เพื่อนๆก็ช่วยกันดีมากเลยครับ มีกิจกรรมรับน้องที่สืบทอดกันมาหลายสิบปีและเรียกได้ว่าการรับน้องของคณะสถาปัตย์ จุฬาฯ มีเอกลักษณ์ของคณะเราที่ทำให้ประทับใจมากๆ และได้เล่นกีฬารักบี้ซึ่งเป็นกีฬาประจำคณะ และยังมีละครสถาปัตย์(ละคอนถาปัด)ที่ทำให้ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์แบบสุดๆ ได้รู้จักรุ่นพี่เก่าๆ และคงเป็นอีกเหตุผลที่ว่าเรียนสถาปัตย์ จุฬาฯ นี้แล้วไปเป็นดารานักร้องกันหมด
พี่เป้ : แล้วนิกคิดว่าจุดเด่นของภูมิสถาปัตยกรรมคืออะไรคะ ?
พี่นิก : ก็คงจะเป็นการออกแบบสิ่งต่างๆ ให้มนุษย์และธรรมชาติอยู่รวมกันได้ โดยที่มนุษย์ไม่ทำลายธรรมชาติครับ
พี่เป้ : ลองเล่าถึงวิชาที่โหดๆ สัก 1 วิชาให้ฟังหน่อย ว่าโหดแค่ไหน?
พี่นิก : จริงๆ แล้วก็มีหลายวิชานะครับ 555+ แต่ที่เหนื่อยกันสุดๆ คงจะเป็นวิชา CONSTRUCTION หรือวิชาโครงสร้างครับ เพราะต้องเรียนรู้งานต่างๆ ไม่ใช่แค่งานออกแบบอย่างเดียว แต่ต้องรู้การรับแรงของโครงสร้าง รู้ระบบไฟฟ้า ระบบน้ำ ของอาคาร และระบบอื่นๆ ในการก่อสร้างเหมือนเราเป็นช่างก่อสร้างเอง และยังต้องเขียนแบบงานทั้งหมดออกมาซึ่งละเอียดมากๆ ตั้งแต่หลังคาลงไปถึงเสาเข็มเลยครับ

พี่เป้ : แล้วเรียนคณะสถาปัตย์ควรถนัดวิชาอะไรเป็นพิเศษบ้างคะ?
พี่นิก : จริงๆ แล้วก็ควรจะต้องรอบรู้ทุกวิชานะครับ เพราะสถาปนิกต้องออกแบบสิ่งต่างๆ ให้กับคนหลากหลายอาชีพ เช่นถ้าออกแบบโรงพยาบาลก็ต้องรู้จักวิถีชีวิตของคุณหมอ แต่ที่สำคัญก็คงต้องมีพื้นฐานฟิสิกส์อยู่พอสมควรครับ รวมไปถึงภาษาอังกฤษที่เราจะต้องค้นคว้างานออกแบบหรือบทความจากต่างประเทศ แต่ก็ควรที่จะถนัดทุกวิชานะครับ เรียกว่าต้องเป็นคนที่รอบรู้ดีกว่าครับ
พี่เป้ : แล้วจบไปอยากทำงานอะไรคะ?พี่นิก : อยากเป็นภูมิสถาปนิกครับ อยากออกแบบให้ธรรมชาติอยู่ในกรุงเทพฯ เยอะๆ ให้กรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองหลวงที่มีพื้นที่สีเขียวให้ได้มากที่สุด คงจะช่วยทำให้กรุงเทพฯ มีอากาศที่บริสุทธิ์ขึ้นบ้างครับ
พี่เป้ : ช่วยฝากถึงน้องๆ ที่อยากเข้าคณะนี้หน่อยค่ะ
พี่นิก : ก็อยากให้น้องๆ ตั้งใจเรียนนะครับอ่านหนังสือเยอะๆ ฝึกวาดรูปกันบ้าง เห็นอะไรที่ชอบก็หยิบดินสอออกมาวาดเลยครับ วาดกันง่ายๆ แบบที่ตาเห็น แล้วก็ลองดูงานออกแบบต่างๆ เปิดหูเปิดตาเยอะๆ ฝึกที่จะเป็นคนช่างสังเกตในรายละเอียดต่างๆ และที่สำคัญลองค้นหาตัวเองให้ดีนะครับว่าเราอยากเรียนสถาปัตย์จริงรึเปล่าหรือว่าแค่ตามกระแส เพราะเป็นถ้าไม่ใช่ตัวตนของน้องๆ เองก็คงต้องเรียนกันเหนื่อยเลยครับ แต่ถ้าใช่ตัวตนของน้องจริงๆ คณะนี้ก็เป็นคณะที่มีความสุขที่สุดเลยครับ


ก้าวแรกสู่คณะในฝัน(สัมภาษณ์เด็กเอนท์ฯ)

พี่เป้: ช่วยแนะนำตัวแก่เพื่อนๆหน่อยสิคะ ?
น้องปาย: ชื่อปายครับ อายุ 17 ปี เรียนที่โรงเรียนพิบูลวิทยาลัย จังหวัดลพบุรี
น้องเตย: ชื่อเตย นางสาวกมลา เครือวงษ์ จากโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัยค่ะ
น้องออโต้: ชื่อนายโชติวัฒน์ ลิ่วเฉลิมวงศ์ [ออโต้] ศิลป์-คำนวณ สวนกุหลาบวิทยาลัย ม.6

พี่เป้: ทำไมถึงอยากเรียนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์กันคะ ว่าแต่อยากเรียนสาขาอะไรกันเหรอ ?
น้องปาย:อยากเรียนเพราะชอบวาดรูปครับ อยากมีบ้านเจ๋งๆ เป็นของตัวเองซักหลังครับ ที่สำคัญได้วาดรูปด้วย (อันนี้สำคัญมาก) 55+ ส่วนสาขาที่อยากเรียนก็สถาปัตย์หลักครับ ไปได้แบบรวมๆ กว้างขวางดี
น้องเตย: ก็เพราะว่าเตยชอบวาดรูปมาตั้งแต่เด็กแล้วค่ะ ชอบดูงานออกแบบที่คุณพ่อร่างไว้ อีกอย่างเพราะว่าเตยชอบการทำงานด้านการออกแบบโมเดลค่ะ พอถึงเวลาต้องเลือกคณะ เลยเข้าไปดูรายละเอียดของแต่ละคณะว่ามีอะไรที่เค้าเรียนกันบ้าง แล้วเห็นว่าสายคณะนี้น่าจะตรงที่สุดก็เลยตัดสินใจเลือกที่จะแอด มิชชั่นเข้าคณะนึ้ค่ะ ส่วนเอกที่สนใจเตยตั้งใจไว้สองเอก เอกแรกที่เตยเลือกคือ INDA คณะสถาปัตย์ หลักสูตรนานาชาติของจุฬาค่ะ ส่วนเอกที่สองที่เตยอยากเข้าก็คือ สาขาภูมิสถาปัตยกรรมศาสตร์ (Landscape) ค่ะ
น้องออโต้: โดยส่วนตัวผมมีนิสัยชอบเพ้อ จินตนาการ วาดรูป ออกแบบอะไรพวกนี้ ผมจึงคิดว่าตัวผมเอง น่าจะเหมาะกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และผมรู้สึกว่าสังคมของ คณะสถาปัตย์ ไม่เหมือนกับสังคมของคณะทั่วไป ประมาณว่าแต่ละคนต่างมีความเป็นตัวของตัวเอง ลุยๆ อดทนต่อการทำงานหามรุ่งหามค่ำ ผมเลยรู้สึกว่ามันน่าจะแตกต่างกับคณะอื่น


พี่เป้: แล้วในอนาคตอยากทำงานอะไร หรืออยากสร้างอะไรบ้าง ?
น้องปาย: ก็อยากเป็นสถาปนิก แล้วก็อยากสร้างบ้านดีไซน์เจ๋งๆ เป็นของตัวเองซักหลังครับ
น้องเตย: จริงๆ เตยมีโครงการเจ๋งๆ กับคุณพ่ออยู่เหมือนกันค่ะ ก็จะเริ่มตั้งแต่ถ้าเตยสอบติดได้ ก็จะเริ่มโปรเจ็กต์การออกแบบที่พักตาม แบบธรรมชาติบนที่ดินของคุณพ่อบนเขา จะไม่ปรับพื้นที่มากค่ะ อยากคงความเป็นธรรมชาติเอาไว้ แต่ก็แค่ร่างๆไว้ค่ะ ก็เหมือนเป็นความฝันอันนึงที่ตั้งใจจะทำแล้วค่ะ
น้องออโต้: อยากเป็นสถาปนิก ไม่ก็เป็นนักออกแบบเปิดบริษัทเป็นของตัวเองครับ เพราะมีความเป็นอิสระ สะดวกและสบายใจ ไม่ต้องเป็นมนุษย์เงินเดือน หรือถ้าหมดหนทางในการประกอบอาชีพจริงๆ ผมก็คงต้องผันตัวไปเป็น ดารา นักแสดง เหมือนกับพี่สถาปนิกกลายพันธุ์ทั้งหลายครับ ฮ่าๆๆๆ

พี่เป้: มีข้อสงสัยหรือคำถามอะไรเกี่ยวกับคณะนี้มั้ยคะ ?
น้องปาย: อยากรู้ว่าถ้าไม่เก่งคำนวณจะไปไหวไหมนี่ ???
น้องเตย: ไม่มีคำถามหรือข้อสงสัยแล้วค่ะ เพราะเตยดูรายละเอียดมากพอสมควรแล้วค่ะ
น้องออโต้: อยากทราบเกี่ยวกับสังคมคณะสถาปัตย์ ในแต่ละมหาวิทยาลัย ว่ามีการใช้ชีวิตและมีการเรียนเหมือน หรือแตกต่างกันอย่างไร และถ้าพวกพี่ๆ จบไป พี่คิดว่าจะ ทำงานอะไร จะเป็นดาราหรือไม่ ฮ่าๆ

แต่ละคนก็มีความฝันที่จะออกแบบสร้างนั่นสร้างนี้เป็นของตัวเอง อีกไม่นานก็คงจะได้ลุ้นกันล่ะว่าทั้งสามคนนี้จะสมหวัง ตามฝันหรือเปล่า ..... ส่วนสัปดาห์หน้าเราจะกลับมาพูดคุยกับรุ่นพี่ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ที่กำลังใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย อย่าลืมติดตามกันนะคะ

คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์(Question&Answer)


Question : คณะนี้เรียนอะไร ?
Answer :
สถาปัตยกรรมศาสตร์ เป็นการศึกษาสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานเทคนิควิทยาการทั้งทางวิทยาศาสตร์ ศิลปะและวัฒนธรรม เข้าด้วยกัน เพื่อตอบสนองความต้องการในการดำรงชีวิตของมนุษย์ ในด้านสภาพแวดล้อมทางกายภาพที่อาศัยวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่นั้นสนองตอบในเชิงจิตวิทยา ซึ่งผู้ออกแบบต้องเข้าใจความต้องการในการใช้พื้นที่นั้น ๆ อย่างลึกซึ้งอันมีผลกับการออกแบบที่ดี และไม่ดี หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นศิลปวิทยาการในการออกแบบอาคารและสิ่งเกี่ยวเนื่อง เพื่อพัฒนาสภาพแวดล้อมทางกายภาพให้เหมาะสมในการดำรงชีวิตของมนุษย์ โดยครอบคลุมตั้งแต่ระดับมหภาค ถึงจุลภาค เช่น การวางผังชุมชน การออกแบบชุมชน ภูมิสถาปัตยกรรม
สถาปัตยกรรมศาสตร์เป็นสาขาวิชาที่จะต้องเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรูปแบบศิลปะ เรื่องของชุมชน เรื่องของพฤติกรรมมนุษย์ และเรื่องอื่นที่เกี่ยวข้องอีกมากมาย

Question : จบไปแล้วทำงานอะไรได้บ้าง ?
Answer :
อาชีพที่ทำหลังจากเรียนจบขึ้นอยู่กับสาขาที่เรียนมา เช่น สถาปนิก ช่างภาพ มัณฑนากร กราฟฟิคดีไซเนอร์ ครีเอทีฟ ออกแบบสิ่งพิมพ์ ออกแบบเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น

Question : คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์เปิดสอนสาขาใดบ้าง ?
Answer :

สาขาหลักในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
สถาปัตยกรรมหลัก (architecture) เกี่ยวกับสิ่งก่อสร้างที่บุคคลอาจเข้าใช้อยู่หรือเข้าใช้สอย ซึ่งต้องขออนุญาตก่อสร้าง ดัดแปลงรื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคารตามกฎหมาย ว่าด้วยการควบคุมอาคาร รวมทั้งโบราณสถานตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ยกเว้นแต่อาคารพักอาศัยที่ไม่เกิน 150 ตารางเมตร และอาคารเพื่อการเกษตรที่มีพื้นที่ไม่เกิน 400 ตารางเมตร

ภูมิสถาปัตยกรรม (landscape architecture) การออกแบบวางแผน การอนุรักษ์และจัดการพื้นที่ใช้สอยภายนอกอาคาร รวมทั้งพื้นที่บางส่วนภายในหรือบนดาดฟ้าอาคารเพื่อความผาสุข สวัสดิภาพและความปลอดภัยของประชาชน ตั้งแต่การสรรค์สร้างสวนสาธารณะและถนนอุทยานไปจนถึงการวางผังบริเวณกลุ่มอาคารสำนักงาน

สถาปัตยกรรมภายในและมัณฑนศิลป์ (interior architecture) การก่อเกิดความงามที่ยังประโยชน์ แฝงความหมายแห่งศิลปกรรม จิตรกรรม ประติมากรรม เพื่อตอบสนองการใช้งานของมนุษย์ ที่เป็นผู้ใช้สอยพื้นที่ว่างภายในอาคาร (space) มนุษย์กับสิ่งแวดล้อม (human and environment) โดยเกี่ยวโยงถึงการพิจารณาถึงระยะและขนาดเนื้อที่ต่างๆ อันเกี่ยวข้องกับ สัดส่วนของมนุษย์ (human scale in architecture) ความต้องการระยะและเนื้อที่ใช้สอยภายในอาคาร (human scale)

สถาปัตยกรรมผังเมือง (urban architecture) วิชาชีพสถาปัตยกรรมที่ใช้ศาสตร์และศิลป์ในการ ออกแบบวางผังเพื่อสร้างสรรค์องค์ประกอบและสภาพแวดล้อมทางกายภาพของเมือง ชุมชนเมืองชุมชน และโครงการกลุ่มอาคารที่มีการใช้งานประเภทเดียวกันหรือหลายประเภท รวมถึงการวางผังเพื่อกำหนดกิจกรรม พื้นที่ ขนาด ความหนาแน่น ความสูง ที่โล่งหรือที่ว่างระหว่างอาคาร และโครงสร้างระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการภายในพื้นที่ดังกล่าว

บางมหาวิทยาลัยอาจมีสาขาเพิ่มเติม เช่น สถาปัตยกรรมไทย ออกแบบอุตสาหกรรม เทคโนโลยีทางอาคาร ภาพยนตร์และวีดีโอ การถ่ายภาพ เป็นต้น

Question : มหาวิทยาลัยที่เปิดสอน ?
Answer :

คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
School of Technology and Built Environment มหาวิทยาลัยชินวัตร
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และการออกแบบสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแม่โจ้
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมืองและนฤมิตศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล
สำนักวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย สงขลา
CREDIT : http://www.dek-d.com/admission/dreamcampus/

วันอังคารที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา



ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา (ศิลปะเรอเนซองซ์)

ศิลปะเรอเนสซองซ์ (พ.ศ. 1940 - 2140) คำว่า "เรอเนสซองซ์" หมายถึง การเกิดใหม่ ซึ่งเป็นการระลึกถึงศิลปะกรีกและโรมันในอดีต ซึ่งเคยรุ่งเรืองให้กลับมาอีก ศิลปะเรเนสซองซ์ไม่ใช่การลอกเลียนแบบจากอดีต แต่เป็นยุคสมัยแห่งการเน้นความสำคัญของลักษณะเฉพาะบุคคล มีความสนใจลักษณะภายนอกของมนุษย์ และ ธรรมชาติ เป็นแบบที่มีเหตุผลทางศีลธรรม ก่อให้เกิดความกระตือรือร้นในการค้นหาความรู้ทาง วิทยาศาสตร์ และวิทยาการแขนงต่าง ๆ ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็น "ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา" โดยมีรากฐานมาจากประเทศอิตาลี และแผ่ขยายไปยังดินแดนต่าง ๆ ในยุโรป

ในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา วัดยังคงเป็นผู้อุปถัมภ์ที่สำคัญของเหล่าศิลปินนอกจากนี้ยังมีพวกขุนนาง พ่อค้าผู้ร่ำรวย ซึ่งเป็นชนชั้นสูงก็ได้ว่าจ้าง และอุปถัมภ์เหล่าศิลปินต่าง ๆ ด้วย ตระกูลที่มีชื่อเสียงเหล่านั้น ได้แก่ ตระกูลวิสคอนตี และสฟอร์ซา ในนครมิลาน ตระกูลกอนซากาในเมืองมานตูอา และตระกูลเมดีชีในนครฟลอเรนซ์ การอุปถัมภ์ศิลปินนี้มีผลในการกระตุ้นให้ศิลปินใฝ่หาชื่อเสียง และความสำเร็จมาสู่ชีวิตมากขึ้น ผลงานของศิลปินที่มีทั้ง จิตรกรรม ประติมากรรม และสถาปัตยกรรม ทำให้ชื่อเสียงของศิลปินหลายคน เป็นที่รู้จักทั่วโลกตลอดกาล เช่น ลีโอนาร์โด ดา วินชี มิเกลันเจโล ราฟาเอล สถานภาพทางสังคมของศิลปินเป็นที่ยอมรับกันอย่างสูงในวงสังคม เกิดสำนักทางศิลปะเพื่อฝึกฝนช่างฝีมือ และเกิดมีศิลปินระดับอัฉริยะขึ้นมาอย่างมากมาย และในยุคยุคฟื้นฟูศิลปวิทยานี้เอง ที่มีการพัฒนาการพิมพ์ขึ้นในประเทศเยอรมนีโดย โยฮันน์ กูเทนแบร์ก เป็นผู้ผลิตนวัตกรรมชิ้นนี้ขึ้นมา ราวพุทธศตวรรษที่ 20 ทำให้ศิลปะการพิมพ์ได้เริ่มมีการสร้างสรรค์ขึ้นอย่างจริงจัง นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

หลังจากสงครามครูเสดอันยาวนานร่วม 300 ปีสิ้นสุดลง ยุโรปก็เข้าสู่ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา เนื่องจากมีการขุดค้นพบซากเมืองโบราณของกรีกและโรมัน ทำให้ยุโรปได้นำศิลปวิทยาการจากการขุดค้นพบมาปรับปรุง ดัดแปลงใหม่ ทำให้ยุโรปมีความเจริญก้าวหน้าในศาสตร์ทุกๆด้าน อาทิเช่น

1.ศิลปศาสตร์ ศิลปินและผลงานที่มีชื่อเสียง เช่น เลโอนาร์โด ดา วินชี ผู้วาดรูปโมนาลิซ่า ไมเคิล แองเจลโล ผู้ปั้นรูปปั้นเดวิด ซึ่งเชื่อว่าเป็นชายที่มีสัดส่วนสมบูรณ์ที่สุดในโลก ราฟาเอล ผู้กำกับการสร้างและตกแต่ง มหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ เป็นต้น
2.เทคโนโลยี เทคโนโลยีที่สำคัญคือ เทคโนโลยีการต่อเรือ โดยชาติที่เป็นผู้ริเริ่มคือ โปรตุเกส และ สเปน ซึ่งทำให้การติดต่อค้าขายกับเอเชียสะดวกขึ้น
3.วิทยาศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงในยุคนี้ เช่น เซอร์ไอแซก นิวตัน ผู้ค้นพบกฎแรงโน้มถ่วง เป็นต้น
4.ตัวอย่างศิลปะแบบเรอเนสซองซ์ในไทย เช่น พระราชวังพญาไท